สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานอ้างแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องว่า อาคิโอะ โทโยดะ ประธานกรรมการบริษัท "โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป" (Toyota Motor Corp.) ได้ยื่นข้อเสนอซื้อกิจการ "โตโยต้า อินดัสทรีส์ คอร์ป" (Toyota Industries Corp.) ซึ่งเป็นบริษัทซัพพลายเออร์ในเครือ โดยหวังที่จะควบรวมเพื่อรักษาอาณาจักรธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่นเอาไว้ด้วยกัน ในขณะที่กระแสการควบรวมและซื้อกิจการกำลังเขย่าภาคธุรกิจในประเทศ
แหล่งข่าวระบุว่า ข้อเสนอดังกล่าวประเมินมูลค่าบริษัทโตโยต้า อินดัสทรีส์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตตั้งแต่เครื่องทอผ้าไปจนถึงชิ้นส่วนรถยนต์ของโตโยต้า เอาไว้ที่ 6 ล้านล้านเยน (ราว 1.4 ล้านล้านบาท) หรือสูงกกว่ามูลค่าตลาดประมาณ 40% จากราคาปิดตลาดเมื่อวันศุกร์
โตโยต้า อินดัสทรีส์ ก่อตั้งขึ้นโดยซาคิจิ ปู่ทวดของโทโยดะ ซึ่งเป็นผู้ให้กำเนิดบริษัทผลิตรถยนต์อันดับ 1 ของญี่ปุ่นและของโลกรายนี้ด้วย ทางบริษัทได้จัดตั้งคณะกรรมการพิเศษขึ้นหลังจากได้รับข้อเสนอซื้อกิจการ และได้จ้างที่ปรึกษาเพื่อพิจารณาดีลนี้แล้ว
แม้ว่าโทโยดะะจะดำรงตำแหน่งประธานบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ แต่การถือหุ้นโดยตรงของเขาในโตโยต้า อินดัสทรีส์ นั้นน้อยกว่า 1% ในขณะที่โตโยต้า อินดัสทรีส์ถือหุ้น 9.1% ในบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ การซื้อกิจการครั้งนี้จะเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นของโทโยดะและสนับสนุนอิทธิพลที่มีต่อกลุ่มโตโยต้าให้กว้างขึ้น ซึ่งรวมถึงกิจการของซัพพลายเออร์และหุ้นในธุรกิจอื่นๆ ไปจนถึงบริษัทรถยนต์คู่แข่งด้วย
ดีลนี้ยังถือเป็นหนึ่งในข้อตกลงซื้อกิจการที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก แม้ว่าการหารือยังคงดำเนินต่อไป และยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าจะมีการดำเนินการต่อหรือไม่ หรือจะไปต่อในรูปแบบที่ตกลงกันไว้หรือไม่ก็ตาม
ทางด้านบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ออกแถลงการณ์ระบุว่า กำลังพิจารณาความเป็นไปได้ต่างๆ หลายประการ รวมถึงการลงทุนบางส่วนในโตโยต้า อินดัสทรีส์ แต่ยังไม่มีการตัดสินใจใดๆ ส่วนทางโตโยต้า อินดัสทรีส์ ก็ออกแถลงการณ์ทางอีเมลว่า กำลังพิจารณาความเป็นไปได้ทั้งหมด รวมถึงนโยบายด้านเงินทุน เพื่อเพิ่มมูลค่าองค์กรของกลุ่มบริษัท แต่ยังไม่มีการตัดสินใจใดๆ ในขณะนี้
“แม้ว่าเราจะเห็นการแก้ปัญหาการถือหุ้นไขว้ภายในกลุ่มโตโยต้าในช่วงสองปีที่ผ่านมา แต่เราให้ความสำคัญกับโตโยต้า อินดัสทรีส์ในฐานะ "ลาสต์บอส" ของการปฏิรูปการกำกับดูแลกิจการ" มาซาฮิโระ อาคิตะ นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ของบริษัทเบิร์นสไตน์ประจำโตเกียวระบุ และเสริมว่า การที่ตลาดและการกำกับดูแลให้ความสำคัญกับบรรษัทภิบาลมากขึ้น ควรกระตุ้นให้มีการปรับโครงสร้างการจดทะเบียนของบริษัทแม่และบริษัทลูกใหม่ ซึ่งรวมถึงโตโยต้าและโตโยต้า อินดัสทรีส์ด้วย”